การเฝ้าระวังภัยและผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็กในบรรยากาศ (PM 2.5)

การเฝ้าระวังภัยและผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็กในบรรยากาศ (PM 2.5) ดังนี้
1. ติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศ การประกาศแจ้งเตือนพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพจากมลพิษทางอากาศจากสื่อต่างๆ ในพื้นที่ ได้แก่ โทรทัศน์ท้องถิ่น วิทยุชุมชน แอปพลิเคชั่นAir4Thai เป็นต้น โดยให้สังเกตสีเป็นหลัก หากเป็นสีส้มและสีแดง เป็นค่าฝุ่นละอองที่เกินมาตรฐานและมีผลกระทบต่อสุขภาพควรปฏิบัติตนตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
2. ประเมินตนเองว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ เช่น มีอาชีพอยู่กลางแจ้งต้องสัมผัสฝุ่นเป็นเวลานาน หรืออาศัยในพื้นที่เสี่ยง เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หอบหืด เยื่อบุตาอักเสบ หัวใจและหลอดเลือด หากพบว่าเข้าข่ายเป็นกลุ่มเสี่ยงให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่นและหมั่นดูแลป้องกันตนเองเป็นพิเศษ
3. ในช่วงที่ฝุ่นละอองสูง ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมนอกบ้าน
4. หากจำเป็นต้องเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงที่มีฝุ่นสูง ให้สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากาก N95 และต้องสวมใส่ให้ถูกวิธี
5. หากมีอาการระคายเคืองตาหรือแสบตา ไม่ควรขตี้ตา ให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาด สำหรับผู้ที่เป็นต้อลม ต้อเนื้อ หรือภูมิแพ้บริเวณดวงตา รวมทั้งผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ ควรหาแว่นตาที่มีขอบด้านบนและด้านข้าง และหากมีอาการผิดปกติ เช่น คันตามาก ตาแดงมาก มีขี้ตาสีเขียวหรือเหลือง หรือตามัวลงให้รีบไปพบจักษุแพทย์
6. ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด ทำความสะอาดบ้านอยู่เสมอ โดยการเช็ด/ถู แบบเปียก และเปิดพัดลมให้อากาศหมุนเวียน
7. หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายในช่วงเช้า และบริเวณที่มีฝุ่นสูง เช่น ริมถนน และห้ามสวมใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นทุกชนิดขณะออกกำลังกายโดยเด็ดขาด หรือเปลี่ยนสถานที่ออกกำลังกายเป็นที่บ้าน
8. ดื่มน้ำสะอาด และดูแลสุขภาพให้แข็งแรง
9. สังเกตอาการผิดปกติของร่างกาย หากพบว่ามีอาการไอ แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ผื่นแดง หรืออาการผิดปกติอื่นๆ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *